๙
ชาวยิวกำจัดศัตรูของพวกเขา
๑ ในวันที่สิบสาม เดือนที่สิบสองคือเดือนอาดาร์ เป็นวันที่ประชาชนต้องปฏิบัติตามกฤษฎีกาที่ออกตามคำบัญชาของกษัตริย์ ซึ่งเป็นวันที่บรรดาศัตรูของชาวยิวคาดหวังว่าจะมีชัยเหนือชาวยิว แต่เป็นไปในทางตรงกันข้ามคือ บรรดาชาวยิวกลับมีชัยเหนือบรรดาผู้ที่เกลียดชังพวกเขา ๒ ชาวยิวร่วมกันโจมตีบรรดาผู้ที่ต้องการกำจัดพวกเขาในเมืองต่างๆ ทั่วทุกแคว้นของกษัตริย์อาหสุเอรัส และไม่มีใครต่อต้านพวกเขาได้ เพราะบรรดาชนชาติทั้งปวงกลัวพวกเขา ๓ บรรดาเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ของทุกแคว้น ผู้ปกครองแคว้น บรรดาผู้ว่าราชการ และผู้บริหารงานของกษัตริย์ก็ช่วยชาวยิว เพราะพวกเขาหวาดกลัวโมร์เดคัย ๔ โมร์เดคัยเป็นใหญ่ในราชวัง เขาเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกแคว้น และชายที่ชื่อโมร์เดคัยมีอำนาจมากยิ่งขึ้น ๕ ชาวยิวใช้ดาบโจมตีศัตรูของตน ฆ่าและกำจัดพวกเขา และกระทำต่อคนที่เกลียดพวกเขาตามใจชอบ ๖ เพียงแต่ในสุสาเมืองป้อมปราการ ชาวยิวได้ฆ่าและกำจัดชาย 500 คน ๗ และได้ฆ่าปาร์ชันดาธา ดาลโฟน อัสปาธา ๘ โปราธา อาดัลยา อารีดาธา ๙ ปาร์มชทา อารีสัย อารีดัย และไวซาธา ๑๐ คือบุตรชายทั้งสิบของฮามานบุตรของฮัมเมดาธาศัตรูของชาวยิว แต่พวกเขาไม่ได้ริบข้าวของไป
๑๑ ในวันนั้น กษัตริย์ได้รับรายงานจำนวนของพวกที่ถูกฆ่าในสุสาเมืองป้อมปราการ ๑๒ กษัตริย์กล่าวกับราชินีเอสเธอร์ว่า “ชาวยิวได้ฆ่าและกำจัดชาย 500 คน กับบุตรชายทั้งสิบของฮามานในสุสาเมืองป้อมปราการ และพวกเขาได้ทำอะไรบ้างในแคว้นอื่นๆ ของเรา บัดนี้ เธออยากได้อะไร เธอก็จะได้ และเธอจะขออะไรอีก เธอก็จะได้รับ” ๑๓ เอสเธอร์ตอบว่า “ถ้าจะเป็นที่พอใจของกษัตริย์ พรุ่งนี้ขอให้ชาวยิวในสุสาได้รับอนุญาตปฏิบัติตามกฤษฎีกาของวันนี้ และแขวนคอบุตรทั้งสิบของฮามานบนตะแลงแกงเถิด” ๑๔ กษัตริย์จึงบัญชาให้ทำตามนั้น กฤษฎีกาออกในสุสา บุตรชายทั้งสิบของฮามานก็ถูกแขวนคอ ๑๕ บรรดาชาวยิวที่อยู่ในสุสาร่วมกันฆ่าชาย 300 คนในสุสาในวันที่สิบสี่ของเดือนอาดาร์ แต่พวกเขาไม่ได้ริบข้าวของไป
๑๖ ส่วนชาวยิวที่เหลือในแคว้นอื่นๆ ของกษัตริย์ ก็ได้ร่วมกันปกป้องชีวิตของตน และพ้นจากการรังควานของพวกศัตรูของเขา และฆ่าคน 75,000 คนที่เกลียดชังพวกเขา แต่พวกเขาไม่ได้ริบข้าวของไป ๑๗ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในวันที่สิบสามของเดือนอาดาร์ และในวันที่สิบสี่ พวกเขาหยุดพักและจัดให้เป็นวันที่มีงานเลี้ยงและวันยินดี ๑๘ ฝ่ายชาวยิวที่อยู่ในสุสาก็ปฏิบัติร่วมกันในวันที่สิบสามและสิบสี่ และหยุดพักในวันที่สิบห้า จัดวันนั้นให้เป็นวันที่มีงานเลี้ยงและวันยินดี ๑๙ ฉะนั้น ชาวยิวจากหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ในชนบทใช้วันที่สิบสี่ของเดือนอาดาร์ เป็นวันยินดีและมีงานเลี้ยงเช่นวันหยุด และเป็นวันที่พวกเขามอบอาหารเป็นของขวัญให้แก่กันและกัน* ชาวยิวเรียกเทศกาลนี้ว่า ปูริม ซึ่งฉลองในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม
งานเลี้ยงฉลองวันปูริม
๒๐ โมร์เดคัยบันทึกเรื่องเหล่านี้ และส่งจดหมายถึงชาวยิวทั้งปวงที่อยู่ในทุกแคว้นของกษัตริย์อาหสุเอรัส ทั้งใกล้และไกล ๒๑ เพื่อให้พวกเขาร่วมกันถือวันที่สิบสี่และวันที่สิบห้าของเดือนอาดาร์ เป็นประจำทุกปี ๒๒ เป็นวันที่ชาวยิวพ้นภัยจากศัตรูของพวกเขา และเป็นเดือนที่เปลี่ยนจากความเศร้าเป็นความยินดี และจากวันไว้อาลัยเป็นวันฉลอง พวกเขาตั้งให้เป็นวันแห่งงานเลี้ยงและความยินดี วันมอบอาหารเป็นของขวัญให้แก่กันและกัน และมอบของขวัญให้แก่คนยากไร้
๒๓ ดังนั้น ชาวยิวเห็นด้วยที่จะรักษาวันฉลองเหมือนที่เริ่มกระทำมาแล้ว และกระทำตามสิ่งที่โมร์เดคัยได้เขียนถึงพวกเขา ๒๔ เพราะฮามานชาวอากักบุตรของฮัมเมดาธา ผู้เป็นศัตรูของชาวยิวทั้งปวง เขาได้วางแผนต่อต้านชาวยิวเพื่อกำจัดพวกเขา และได้จับฉลากซึ่งเรียกว่า “ปูร์” เพื่อเจาะจงหาวันที่จะทำลายและกำจัดพวกเขา ๒๕ แต่เมื่อเรื่องเป็นที่ทราบของกษัตริย์ ท่านออกคำสั่งเป็นตัวอักษรว่า แผนการชั่วร้ายของเขาที่มีต่อชาวยิวนั้นควรกลับไปลงโทษตัวเขาเอง และฮามานกับบรรดาบุตรชายของเขาควรถูกแขวนคอบนตะแลงแกง ๒๖ ฉะนั้น พวกเขาจึงเรียกวันนั้นว่า ปูริม ตามคำเรียก “ปูร์” ฉะนั้น เป็นเพราะทุกสิ่งที่เขียนในจดหมายนี้ และเพราะสิ่งที่พวกเขาได้เผชิญรวมไปถึงสิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับพวกเขา ๒๗ บรรดาชาวยิว ผู้สืบเชื้อสายของพวกเขา และทุกคนที่ร่วมกันกับพวกเขา ต่างก็หมั่นปฏิบัติรักษาทั้ง 2 วันนี้ ตามเรื่องที่เขียนไว้โดยไม่เว้น และตามเวลาที่กำหนดไว้ของทุกปี ๒๘ วันดังกล่าวควรจะเป็นที่จดจำและรักษาตลอดทุกชั่วอายุคน ทุกตระกูล แคว้น และเมือง และไม่ควรหยุดฉลองวันปูริมในหมู่ชาวยิวเป็นอันขาด และบรรดาลูกหลานไม่ควรหยุดระลึกถึงเหตุการณ์นี้ตลอดไป
๒๙ ราชินีเอสเธอร์บุตรหญิงของอาบีฮาอิล กับโมร์เดคัยชาวยิวก็ได้เขียนมอบอำนาจเป็นทางการ เพื่อรับรองจดหมายฉบับที่สองนี้เรื่องวันปูริม ๓๐ จดหมายถูกส่งไปยังชาวยิวทั้งปวงใน 127 แคว้นของกษัตริย์อาหสุเอรัส ด้วยคำพูดแห่งสันติสุขและความจริง ๓๑ คือวันปูริมนี้ควรรักษาตามกาลเวลาที่กำหนดไว้ ตามที่โมร์เดคัยชาวยิวและราชินีเอสเธอร์ร่วมกระทำการให้มีวันนี้ตั้งขึ้นมาได้ ทั้งสองและบรรดาผู้สืบเชื้อสายได้มีส่วนในการอดอาหารและร้องคร่ำครวญ ๓๒ สิ่งที่ราชินีเอสเธอร์ขอให้มีในกฤษฎีกานั้นระบุอย่างชัดเจนเกี่ยวกับวันปูริม ซึ่งมีการบันทึกไว้แล้ว